9 เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืนให้สวย
1. ถ่ายภาพโหมดแมนนวล (Manual Mode)
เหตุผลที่อยากจะให้ใช้โหมดแมนนวล (Manual) ก็เพราะว่าเราต้องปรับตั้งค่าให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ที่เหมาะสม และต้องปรับแต่ละค่าอย่างอิสระ ปกติแล้วเวลาใช้โหมดอัตโนมัตินั้น กล้องเขาแค่คำนวณค่าแสงที่พอดีให้ แต่ในการถ่ายภาพกลางคืน แหล่งกำเนิดแสงก็อยู่ในจุดที่ต่างกัน และอาจจะมีสีของที่แตกต่างกันด้วย ทำให้เวลาถ่ายภาพด้วยโหมดอัตโนมัติใด ๆ ก็ตาม จะทำให้เราควบคุมภาพที่ออกมาได้ยาก
2. ใช้ขาตั้งกล้องช่วยให้ถ่ายภาพได้นิ่ง และตั้งค่ารับแสงได้นาน
แก่นแท้ของการใช้ขาตั้งกล้องในเวลากลางคืน เพราะว่าเราต้องการให้กล้องเปิดม่านรับแสงได้นาน ๆ หมายความว่าเราจะถือกล้องไม่ได้เลย เมื่อเปิดม่านนาน ๆ กล้องจะเบลอมาก แต่ข้อดีคือเราสามารถถ่ายภาพจากมืด ๆ ให้สว่างได้เลย
3. ปิดกันสั่นกล้อง และเลนส์ เมื่อใช้ขาตั้งกล้อง
เรื่องนี้อาจจะงงสำหรับคนที่ไม่ได้ถ่ายภาพแนว Landscape จริงจัง คงเกิดคำถาม อ้าวมีกันสั่นมันก็ดีแล้วไม่ใช่เรอะ ใช่ครับ ดีสำหรับการที่เราใช้งานเมื่อไม่ได้ใช้ขาตั้ง แต่เมื่อไหร่ที่เราใช้ขาตั้งกล้อง การเปิดกันสั่นนั้น แทนที่กล้องจะอยู่นิ่ง ๆ แต่กันสั่นมันก็พยายามขยับตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่ากล้อง หรือเลนส์ก็เถอะ ทำให้ภาพที่ได้ไม่คมชัดเท่ากับการปิดกันสั่น อีกอย่างก็คือขาตั้งกล้องกันภาพสั่นไหวได้โคตรดีสุด ๆ แล้วครับ ดีขนาดว่ากล้องที่ไม่มีกันสั่นยังได้ภาพนิ่ง ๆ กริ๊บ ๆ ถ้าอยากได้ภาพเนี๊ยบ ให้ปิดกันสั่นเวลาที่ใช้ขาตั้งกล้องกันนะครับ
4. ฝึกปรับความเร็วชัตเตอร์หลังจากที่ถ่ายภาพทุกครั้ง
อ้าว ทำไมล่ะ เพราะว่าเราต้อง Adjust ตามความเหมาะสมครับ บางครั้งเราอาจจะพบว่าบางจุดมืดไป เราถ่ายแล้วก็ค่อย ๆ ปรับ จากนั้นดูภาพ แล้วก็ถ่ายอีก อันไหนยังไม่พอ ก็จะปรับอีก สังเกตได้ว่าคนถ่ายภาพกลางคืนจะง่วนอยู่กับขาตั้ง และการปรับตั้งค่ากล้องตลอด เพราะเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับภาพถ่ายของเรานั่นเอง
5. ถ้ากล้องมีปัญหาเรื่องโฟกัสในที่แสงน้อยไม่ได้ ให้โฟกัสแมนนวลไปเลย
สังเกตได้ว่ากล้องแทบทุกอย่างต้องเจอปัญหาคือ เมื่อแสงน้อยมาก ๆ ระบบโฟกัสอัตโนมัติแทบจะโฟกัสไม่เข้าเลย เว้นแต่กล้องแพง ๆ เลนส์เทพ ๆ ที่จะมีเทคโนโลยีมาช่วยจัดการตรงนี้ แต่ถ้าเราไม่สามารถใช้ระบบออโต้โฟกัสได้เลย เราต้องฝึกครับ ฝึกที่จะหมุนด้วยมือแทนครับ
6. หากถ่ายภาพวัตถุกลางคืน อาจจะเติมแสงให้วัตถุด้วยแฟลชบ้าง
อันนี้เรื่องพื้นฐานครับ ถ้าหากเราถ่ายคน หรือวัตถุที่มันยังพอจะใช้แฟลชเติมได้ ก็เติมครับ เพื่อให้รายละเอียดในภาพออกมา แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ใช้แฟลชแบบยิงที่แบบตรง ๆ แล้วทุกอย่างมืดหมด แต่ให้เลือกปรับแสงแฟลชตามความเหมาะสมครับ
7. พยายามให้ภาพถ่ายของเรามีการเคลื่อนไหวด้วย
วิธีถ่ายภาพให้สว่างก็คือการลดความเร็วชัตเตอร์ลงเพื่อให้กล้องเปิดรับม่านชัตเตอร์ได้นานขึ้น และรับแสงเข้ากล้องได้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ได้คือภาพสว่าง แต่ว่าวัตถุอะไรที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วมันจะเกิดการเบลอ ดังนั้นช่างภาพส่วนใหญ่เลือกจะดีไซน์ภาพให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ
8. วางแผนในการถ่ายภาพ
เรื่องนี้สำคัญมากคือการวางแผน เราต้องรู้ว่าช่วงเวลาไหนเหมาะสมกับการถ่ายตรงนี้ เช่น ตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ ท้องฟ้าเริ่มเป็นสีน้ำเงินเข้ม ๆ ตึกเริ่มเปิดไฟส่องสว่าง, ไฟของรถยนต์ที่ถนนก็เริ่มเปิดเพื่อให้แสงสว่าง ดังนั้นทุกอย่างสมบูรณ์แบบ เราพร้อมที่จะถ่ายแล้ว แต่ถ้าไม่วางแผนเลย ไปถ่ายตอนเย็น ๆ ไหน ไฟรถก็ยังไม่เปิด ไฟตึกก็ยังไม่เห็น แล้วจะถ่ายได้ยังไง อีกอย่างคือเรื่องของการเลือกมุมถ่าย บางครั้งมุมมหาชน แย่งกันถ่ายก็มี หรือแม้แต่การที่เราถ่ายภาพหลายมุมในเวลาที่จำกัด เราก็ต้องวางแผนให้มาก เพื่อที่จะลดปัญหาหน้างานลงได้ครับ
9. เรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพให้เรียบร้อยก่อน ในบทความนี้ไม่มีสอนตั้งค่า เพราะว่าสถานการณ์แต่ละอย่างใช้ค่าที่แตกต่างกันมาก!!
หลายคนอ่านมาถึง อ้าวทำไมไม่สอนไปเลยล่ะว่า ใช้ ISO เท่านี้, Speed เท่านี้, F เท่านี้ไปเลย มันทำยังงั้นไม่ได้คร้าบ เพราะว่าช่างภาพต้องดูสภาพแสง ต้องประเมินสถานการณ์ได้ และรู้ว่าควรจะตั้งค่ากล้องให้รับภาพได้ยังไง เพราะงั้นเรื่องของการเตรียมตัวถ่าย การถ่ายภาพหน้างาน และการแต่งภาพเพื่อความสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน และไม่มีทางลัดใด ๆ มันคือความเข้าใจเอง
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยัง งง ๆ ผมขอแนะนำอีกครั้งให้อ่านและทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพให้เรียบร้อยก่อน จะช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพกลางคืนได้ดีขึ้น
อ้างอิง
https://photoschoolthailand.com/9-เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืนให้สวย/
https://www.youtube.com/watch?v=A1DUHmvr9vA
https://photoschoolthailand.com/9-เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืนให้สวย/
https://www.youtube.com/watch?v=A1DUHmvr9vA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น